Skip to content

กำเนิดพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง

ข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอนี้ เป็นบทความของผู้เขียนในเรื่องของการสร้างพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง ที่ลงในเพจ สุวัฒน์ เหมอังกูร จตุคาม 30/ขุนแผนผงพรายกุมาร ลป.ทิม ความเหมือนที่แตกต่าง เป็นบทวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นว่าการจะสรุปเรื่องใด ๆ ควรเป็นไปอย่างมีเหตุผล

ตอนที่ 1

พระขุนแผน

     ขุนแผน    ชื่อนี้มีมนต์ขลัง  ด้วยเรื่องราวที่เล่าขานกันมาอย่างยาวนานถึง 500 กว่า ปี มิใช่เป็นเพียงนิทานแต่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริงของชายหนุ่มรูปงาม  ที่มีนามว่า พลายแก้วผู้ทรงเสน่ห์  เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่สาว ๆ  ที่พบเห็น  ต่อมาเมื่ออายุครบการเกณฑ์ทหาร พลายแก้วจึงสมัครเข้ารับราชการทหารและเป็นทหารที่เก่งกล้าสามารถมีวิชาอาคมขลัง  มีชื่อเสียงจากการรบทัพจับศึกจนมีความดีความชอบ ได้รับการอวยยศศักดิ์เป็นขุนแผนแสนสะท้าน   ในบั้นปลายชีวิตได้รับการแต่งตั้งเป็นถึง  พระสุรินทร์ฤาไชยมไหศูรยภักดี   แต่คนทั่วไปจำจนขึ้นใจคือชื่อขุนแผน ที่มีความโด่งดังเล่าต่อกันมาจนเป็นนิทานประจำบ้าน  กระทั่งในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ได้มีผู้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ  แต่งเป็นกลอนเสภาที่นิยมขับขานกันมาจนเกิดวิกฤตสงครามการเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง   ทำให้บทเสภาได้รับผลกระทบตกหล่นสุญหายไป    ตกมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่  2  รวมทั้งกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์   สุนทรภู่  ครูแจ้ง  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   และ ครูเสภาอีกหลายท่าน   ได้แก้ไขต่อเติมเสริมแต่งเพิ่มอรรถรสจนสมบูรณ์   ขึ้นอันดับชั้นเป็นวรรณคดีเสภาที่ยอดเยี่ยมที่สุด  ได้รับความนิยมเป็นที่ชื่นชอบและเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป 

          ความเก่งกล้าสามารถ  ความมีเสน่ห์เป็นที่รักใคร่จากหญิงสาว   คุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้  ทำให้ขุนแผนเป็นไอดอลของชายไทยทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่  ทุกคนอยากเป็นอย่างขุนแผน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมีเสน่ห์   เป็นสิ่งเดียวที่ทุกคนอยากมี อยากเป็น  แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก  จนกระทั่งมีการกล่าวขวัญถึงพระกรุที่ค้นพบในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่  5   คือพระเครื่องกรุวัดบ้านกร่าง   ที่ได้รับการตั้งชื่อว่าพระขุนแผนพร้อมกับคำร่ำลือว่า  มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องคงกระพัน  แคล้วคลาด ที่สำคัญคือ เมตตามหานิยมอันเป็นสุดยอดปรารถนา     เพียงแค่ชื่อว่าพระขุนแผนก็ทำให้เกิดความอยากได้อยากมีให้กับหนุ่ม ๆ โดยเชื่อมั่นว่าพระนี้จะเป็นตัวแทนของขุนแผนแสนสะท้านผู้ทรงเสน่ห์   ถ้าได้แขวนแล้วก็จะทำให้ตัวเองมีอานุภาพในการดึงดูดสาว  ๆ เหมือนกับขุนแผน

           ก่อนที่จะนำพาท่านผู้อ่านไปส่องดูข้อมูลรายละเอียดความเป็นมา  ของพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง   ผมขอกล่าวถึงแนวคิดของชายไทยในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อน ๆ  นั่นคือ  หนุ่ม ๆ สมัยนี้เขาไม่ค่อยเชื่อว่ามีพระขุนแผนแล้วจะจีบสาวๆ ที่ตัวเองหมายปองสำเร็จ  เพราะสิ่งที่สาว ๆ  สมัยนี้ยึดถือก็คือการเอาข้อความในเพลงของนักร้องชื่อดังเป็นเงื่อนไข  นั่นคือเพลงของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรีเช่นเดียวกับขุนแผน  นั่นคือเพลง  เงินน่ะมีไหม    ผมได้ฟังน้อง  ๆ  และพี่  ๆ หลายคน พากันบอกว่า  ผมไม่ค่อยสนใจหรอกครับขุนผงขุนแผน  เงินอย่างเดียว  !!!  จบ   คำพูดของเขาเล่นเอาผมอึ้งไปเหมือนกัน   ที่อึ้งไม่ได้หมายความว่าจนมุม  แต่เพราะได้รับรู้ว่าเดี๋ยวนี้คนพากันยึดถือว่า  เงิน คือปัจจัยสูงสุด  หรือที่เขามักจะพูดกันว่าเงินคือพระเจ้า  ซึ่งเป็นแนวคิดในเรื่องวัตถุนิยมด้านเดียว  ไม่ได้คิดในเรื่องของอารมณ์  จิตใจ และจิตวิญญาณ  ผมจึงตอบพวกเขาไปว่า  ก็ถูกนะ  ถ้ามีเงินมากเสียอย่าง โอกาสที่จะหาเมียไม่ใช่เรื่องยาก  แต่ความเห็นอีกส่วนหนึ่งของผมคือ   เงินซื้อความรักไม่ได้  ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่าเมียที่ได้มาเขารักตัวหรือรักเงิน ตอบแบบนี้ก็ต้องมีคำถามตามมาอีกแน่ ๆ ว่า  แล้วพระขุนแผนซื้อความรักได้เหรอ  ก็ต้องขอตอบว่าซื้อไม่ได้แต่ทำให้คนมารักมาชอบได้   ไหน ๆ  วิเคราะห์เจาะลึกลงไปในรายละเอียดขนาดนี้แล้วก็คงต้องว่ากันไปให้สิ้นกระแสความ   เพราะคงจะมีความข้องใจอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ   อาจจะมีคนบอกว่าการที่พระขุนแผนทำให้มีคนมารัก  เป็นการใช้เวทย์มนต์คาถามาบีบบังคับจิตใจให้เขามารัก    เป็นการหลอกเขาหรือเปล่า  ผมขอเรียนว่าวัตถุมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทางด้านเมตตามหาเสน่ห์นั้น   ไม่ได้เป็นการไปบังคับจิตใจของฝ่ายตรงข้าม  แต่เป็นการเปิดตัวตนของคนที่แขวนให้เพศตรงข้ามมองเห็นความดีความมีเสน่ห์ของเขา  ทำให้เกิดความรักขึ้นมาตั้งแต่พบเห็น  และถ้าเขาเป็นคนดีและตั้งใจอยากได้ผู้หญิงคนนั้นมาเป็นภรรยา  พระท่านก็จะช่วย  ด้วยเหตุนี้ พระเกจิอาจารย์ทุกองค์   มักจะสั่งสอนและย้ำกับลูกศิษย์เสมอว่า  เมื่อได้เขามาแล้วต้องรับเลี้ยงดูเขานะ    และเรื่องนี้ก็จะโยงไปยังดวงชะตาที่จะบอกว่าถ้าเป็นเนื้อคู่กันพระนั้นก็จะบันดาลให้พบ   

             จากรายละเอียดต่าง  ๆ  และคำถามหลายคำถามข้างต้นเป็นเรื่องที่ผมถามเองและตอบเอง  เพื่อที่จะคลายความสงสัยที่อาจจะมีขึ้น    ผมจึงได้ให้เหตุผลไว้เป็นเบื้องต้น  แต่จะขออธิบายเพิ่มเติมต่อนะครับว่า    กรณีมีหนุ่ม ๆ ที่รวยมาก ๆ และเชื่อมั่นในตัวเองหรือในเงินของเขา   ซึ่งคงไม่สนใจที่จะพึ่งพาอาศัยอิทธิฤทธิ์ของพระขุนแผน   บุคคลเหล่านี้เราก็ต้องปล่อยเขาไป  ส่วนเขาจะได้ความรักจริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตา    ซึ่งก็ดีนะครับที่ทำให้คนมาแย่งพระน้อยลง   และเป็นการช่วยให้หนุ่ม ๆ  ที่ไม่ได้ร่ำรวยมหาศาลมีสาว ๆ   มารักได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินอย่างเดียว   แต่จะใช้วิธีหาวัตถุมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหาเสน่ห์อย่างเช่นพระขุนแผนมาช่วยได้อีกทางหนึ่ง   

ตอนที่ 2

ที่มาของพระขุนแผน

         พระขุนแผน  ชื่อนี้ปรากฏขึ้นมาจากการพบกรุพระวัดบ้านกร่าง ช่วงแรก ๆ คนท้องถิ่นเรียกชื่อกันแต่เพียงพระวัดบ้านกร่าง  ต่อมาเมื่อพระนี้แพร่หลายเข้ามายังส่วนกลาง จึงเกิดมีการตั้งชื่อพระกรุนี้ว่า พระขุนแผน  ปกติการตั้งชื่อพระมักจะตั้งตามชื่อของกรุนั้น ๆ โดยอิงกับชื่อวัด  ชื่อจังหวัด   รูปแบบของพระและปางต่าง ๆ  ที่ปรากฏอยู่ในองค์พระ  แต่พระกรุนี้ได้รับการตั้งชื่อว่าพระขุนแผน คงเห็นว่าพบที่จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งเป็นบ้านของขุนแผน ประกอบกับพบที่อำเภอศรีประจันต์ซึ่งเป็นชื่อของแม่นางวันทอง ด้วยชื่อนี้ทำให้เป็นที่ต้องการอย่างกว้างขวาง  จึงเกิดการค้นคว้าหาประวัติความเป็นมาของพระกรุนี้ทั้งนักประวัติศาสตร์และเซียนพระทั่วไป จนเกิดการสันนิษฐาน  การคาดเดา และมโนคติ  อย่างหลากหลายเรื่องราว บางเรื่องได้รับการบอกต่อกันมาโดยยึดถือกันเป็นเรื่องจริงไปเลย  เราลองมาพิจารณากันดูครับ  ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร 

          ที่แน่ ๆ  คือพระกรุนี้ไม่ได้สร้างโดยขุนแผน   เพราะเวลาการสร้างพระวัดนี้ยังก้ำกึ่งกันกับช่วงเวลาของขุนแผนและไม่มีการกล่าวถึงในวรรณคดี ทำให้มีการสันนิษฐานว่า  พระกรุนี้สร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช   เนื่องจากไปเหมือนกับพระขุนแผนวัดใหญ่ชัยมงคล  ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตามคำแนะนำของสมเด็จพระพนรัตน์ ประกอบกับในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการระบุสถานที่แน่นอนของการทำยุทธหัตถีว่าอยู่ที่อำเภอดอนเจดีย์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดบ้านกร่าง จากข้อมูลนี้จึงทำให้เกิดการสร้างเรื่องราวขึ้น มีข้อสรุปตามที่ผมได้สดับตรับฟังมา   3 ข้อด้วยกันคือ   

                  1.  หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่าจนได้รับชัยชนะแล้ว   ระหว่างพักทัพที่อยู่ใกล้วัดบ้านกร่าง  ได้ทรงโปรดให้สร้างพระชุดนี้ขี้นมาเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับทหารที่เสียชีวิต โดยบรรจุไว้ในเจดีย์วัดบ้านกร่างก่อนยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา 

                   2.  ข้อมูลอีกด้านหนึ่งคือ   เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกทัพเพื่อจะไปรบกับพระมหาอุปราชา   ที่กำลังยกทัพเข้ามารุกรานประเทศไทย  ระหว่างที่หยุดพักทัพได้ทรงโปรดให้สร้างพระชุดนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทหารนำไปป้องกันตัวเองระหว่างรบ   เมื่อการรบได้เสร็จสิ้นลงและได้รับชัยชนะ  ในสมัยโบราณไม่ให้นำพระเข้าบ้าน  ก่อนยกทัพกลับจึงนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์วัดบ้านกร่าง

                   3.  ประวัติของทางวัดระบุว่า   ภายหลังจากเสร็จศึกและกลับไปยังอยุธยาแล้ว  สมเด็จพระนเรศวรทรงให้สร้างพระขึ้นและนำมาบรรจุไว้ในเจดีย์วัดบ้านกร่าง

               สำหรับความเห็นของผม  พิจารณาว่าเรื่องในข้อที่ 1 และ 2 เป็นการสร้างเรื่องโดยไร้เหตุผลและข้อมูล   ส่วนข้อ 3 นั้นมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือกว่า  ที่ว่าไม่มีเหตุผลนั้น  เรามาวิเคราะห์กันดูนะครับ 

                ในข้อที่  1  ผมเห็นว่าถึงจะรบชนะ  แต่ความวุ่นวายโกลาหลคงยุ่งเหยิงน่าดู  ไหนจะมีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายทั้งของเพื่อนที่ตายและของที่ยึดได้จากพวกพม่า   ตามบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ  ( เจิม )  กองทัพไทยสามารถฆ่าทหารพม่าได้ 20,000 คน  และยึดได้ช้าง  800 เชือก     ม้า  2,000  ตัว  จับแม่ทัพนายกองได้อีกจำนวนมาก ทำให้ต้องจัดแบ่งคนช่วยกันควบคุมดูแลและจัดการเรื่องต่าง ๆ   สถานการณ์แบบนี้จะเอาอารมณ์ที่ไหนไปสร้างพระ   ถ้าจะสร้างก็กลับไปสร้างที่อยุธยาดีกว่า  เพราะเดินทางแค่  4-5 วันก็ถึงแล้ว  จึงควรจะรีบเดินทางกลับเพราะมีเรื่องอีกมากมายที่จะต้องจัดการ  จะมานั่งเสียเวลาเอ้อระเหยสร้างพระอีกตั้งหลายวันทำไม   และที่บอกว่าสร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับทหารที่ถูกฆ่าตาย แบบนี้ไปรบที่ไหนก็ต้องสร้างพระกันอุตลุดไปหมด                       ต่อตอนหน้าครับ  

สุวัฒน์ เหมอังกูร                                                                                                          17 มกราคม 2565

ตอนที่  3

ที่มาของพระขุนแผน ต่อจากตอนที่แล้ว

                 ในข้อที่  2  กรณีตั้งทัพแล้วสร้างพระเพื่อให้ทหารพกติดตัวออกรบ  เสร็จแล้วสมัยนั้นไม่ให้นำพระกลับบ้านจึงบรรจุใส่เจดีย์   กรณีนี้ยิ่งไปกันใหญ่  กำลังยกทัพจะไปปะทะกับข้าศึก  เมื่อตั้งทัพก็ควรจะวางแผนในการรบ  เพราะข้าศึกเข้ามาใกล้ชิดมากแล้ว คงไม่มีผู้นำทัพคนไหนคึกคะนองมานั่งสร้างพระ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบุว่าให้ทหารไว้คุ้มครองตัวระหว่างรบ จึงอยากถามว่า  ถ้ามีวัตถุประสงค์แบบนี้ แล้วใครจะเป็นผู้ปลุกเสกพระ  ไปสร้างกันอยู่ในป่าแบบนั้น  ถ้าจะต้องปลุกเสกก็ต้องหาพระเกจิอาจารย์ที่เข้มขลัง  และพระเกจิอาจารย์องค์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเชื่อมั่นและศรัทธามาก  คือสมเด็จพระพนรัตน์  ถ้าเป็นแบบนี้พระองค์ท่านคงต้องใช้ให้ทหารไปนิมนต์สมเด็จพระพนรัตน์ ขอให้ท่านควบม้าอย่างรวดเร็วเพื่อมาปลุกเสกให้หรืออย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง  เพราะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่สนับสนุนแนวความคิดนี้  

              รายละเอียดเหตุการณ์ตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ  บันทึกว่า  วันที่  10  มกราคม พ.ศ.2135  สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จทางชลมารคไปทำพิธีฟันไม้ข่มนามที่ตำบลหลมพลี  ( ลุมพลี )   และทรงจัดตั้งทัพที่ตำบลม่วงหวาน (อยู่ในเขตอำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา ) จากนั้นในวันที่ 13  มกราคม 2135 เสด็จโดยทางสถลมารค วันที่  18  มกราคม 2135 ก็ได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาตอน 11 โมงกว่า   จากข้อมูลดังกล่าว  ลองพิจารณาดูนะครับว่าช่วงเวลาจัดทัพและเดินทางไปจนกระทั่งปะทะกันนั้น  มีเวลาเพียงแค่  4  – 5  วันเท่านั้น แต่การสร้างพระต้องใช้เวลามากกว่า 10 วัน และการยกทัพไปครั้งนี้ตามการคำนวณของกองม้าที่พระมหาอุปราชาส่งไปสังเกตุการณ์ได้กลับมาทูลพระองค์ว่ากองทัพไทยมีทหารประมาณ 170,000- 180,000 คน แต่พระมหาอุปราชาที่ยกทัพมารวมกับกองทัพเชียงใหม่มีกำลังพลถึง 500,000 คน สมเด็จพระนเรศวรมีกำลังพลเพียง 1 ใน 3 ของข้าศึก  สิ่งสำคัญคือวางแผนการรบ  จะเอาอารมณ์ที่ไหนมาสร้างพระ  และช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ไม่เปิดโอกาสให้ทำได้ที่จะสร้างพระเกือบสองแสนองค์ให้ทหาร  สำหรับความเห็นผมต่อให้มีเวลามากกว่านี้ก็คงไม่มีใครคิดทำในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนั้น ยิ่งถ้าย้อนเวลาไปช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ. 2127 มีสงครามรบพุ่งกันมาโดยตลอด ถ้าพระองค์ท่านจะสร้างคงทำมานานแล้ว พระองค์ท่านทรงเป็นนักรบผู้มีพระปรีชาสามารถสูงยิ่ง สิ่งที่พระองค์ท่านให้ความสำคัญที่สุดคือกลยุทธ์และความสามารถในการต่อสู้ของทหาร ส่วนเรื่องเครื่องรางของขลังนั้นจัดเป็นเรื่องรอง ผมขอพูดแบบฟันธงได้เลยว่าทหารทุกคนมีเครื่องรางของขลังพร้อมที่จะออกรบได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว และที่บอกว่าห้ามนำพระเข้าบ้าน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วจะแขวนพระทำไม สำหรับวันทำยุทธหัตถีในวันที่ 18 มกราคม ต่อมาทางการได้กำหนดให้เป็นวันกองทัพไทย

              ในข้อที่ 3 ผมเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีเหตุผล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง เพราะเป็นเพียงการสันนิษฐานอันเนื่องมาจากรูปแบบพิมพ์ของพระไปเหมือนกับพระขุนแผนเคลือบที่บรรจุอยู่ในเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

               สรุป เรื่องใครเป็นผู้สร้างพระขุนแผนที่วัดบ้านกร่างนั้นไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ขนาดเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่านี้ อย่างเช่นสถานที่ทำยุทธหัตถียังถกเถียงกันไม่จบ บ้างก็ว่าที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี บ้างก็ว่าอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี  และยังมีอีกหนึ่งความเห็นของ รศ.ดร.พิริยะ  ไกรฤกษ์  เสนอว่าอยู่ที่ชานเมืองพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 3  ฝ่ายต่างมีข้ออ้างจากบันทึกและพงศาวดารต่าง ๆ ถ้าจะหาที่มากันจริง ๆ เรื่องพระขุนแผนผมขอเสนอเหตุผลในข้อที่ 3 ครับ 

สองภาพนี้ถ่ายจากวัด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *