

พระขุนแผน เป็นวัตถุมงคลที่ชายไทยจำนวนไม่น้อยใฝ่ฝันอยากจะได้มาครอบครอง ด้วยกิตติศัพท์คำร่ำลือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องเมตตามหานิยม และเมตตามหาเสน่ห์
ปฐมบทของพระขุนแผนมีที่มาจากพระกรุของวัดบ้านกร่าง ซึ่งพบเมื่อประมาณ พ.ศ.2450 ในตอนแรกยังไม่มีใครตั้งชื่อว่าพระอะไร ต่อเมื่อนำไปใช้แล้วพบว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องแคล้วคลาดคงกระพันและยังมีในเรื่องเมตตามหาเสน่ห์ด้วย ซึ่งอานุภาพเหล่านี้ไปตรงกับคุณสมบัติประจำตัวของขุนแผน พระเอกในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่พวกเรารู้จักกันดี คือ ท่านเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถมีวิชาอาคมคงกระพันเป็นเลิศและยังเป็นชายหนุ่มรูปงามมีเสน่ห์เป็นที่หลงใหลของหญิงสาวที่ได้พบเห็น ประกอบกับวัดบ้านกร่างตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นถิ่นกำเนิดที่ก่อให้เกิดตำนานเรื่องขุนช้างขุนแผน พระพิมพ์นิยมของกรุนี้จึงได้ชื่อว่า พระขุนแผน ในระยะเวลาต่อมา เมื่อพบพระที่มีพุทธลักษณะและองค์ประกอบแบบเดียวกับพระกรุบ้านกร่าง ก็จะเรียกว่า พระขุนแผนทั้งหมด
ด้วยความโด่งดังของพระขุนแผนจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัตถุมงคลที่มีอิทธิฤทธิ์ในเรื่องความเมตตา อันเป็นพุทธคุณที่ประชาชนคนไทยต้องการมาทุกยุคทุกสมัย พระพิมพ์นี้จึงถูกสร้างโดยพระเกจิอาจารย์อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นพิมพ์ที่ถูกสร้างมากกว่าพระกรุอื่นใดทั้งหมด
กลับมาที่พระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลและกรุโรงเหล้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นพระที่สร้างก่อนวัดบ้านกร่าง แต่ถูกนำขึ้นจากกรุทีหลัง เป็นพระต่างเมืองต่างสถานที่ แต่พิมพ์ใกล้เคียงกันมาก เมื่อแตกกรุขึ้นมาเป็นที่ฮือฮามากเพราะเป็นพระเนื้อดินที่มีการเคลือบ ซึ่งลักษณะนี้ไม่เคยมีปรากฏในพระกรุอื่นๆ เลย ถือเป็นพระที่มีความพิเศษและคลาสสิก ทำให้ราคาค่านิยมพุ่งแซงหน้าพระขุนแผนที่ไม่เคลือบไปไกล
หลังจากพระขุนแผนเคลือบขึ้นมาอย่างเป็นทางการเพียงไม่นาน ได้มีการพบพระขุนแผนที่บริเวณหลังโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอยุธยา ซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเหล้า จึงพากันเรียกว่าขุนแผนกรุโรงเหล้า เป็นพระที่มีลักษณะคล้ายพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลแต่ไม่เคลือบ ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดและประวัติของการพบเพราะมีผู้บอกเล่ากันมาจำนวนมากแล้ว รวมทั้งมีการวิเคราะห์และสันนิษฐานกันหลายความเห็น แต่ที่ผู้เขียนต้องกล่าวถึงพระขุนแผนกรุโรงเหล้าเพราะพระขุนแผนกรุนี้มีการนำไปเกี่ยวข้องกับพระขุนแผนกรุอื่น ๆ ที่มีส่วนโดยตรงคือพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล
พระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล แบบไม่เคลือบ


ในช่วงที่ผู้เขียนเข้ามาเล่นพระใหม่ ๆ เมื่อประมาณเกือบ 40ปีที่แล้ว มีเซียนพระท่านหนึ่งได้นำพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคลมาให้ผู้เขียนดู เขาบอกว่าบูชามา 1.2 แสนบาท ราคาเท่ากับพระสมเด็จระฆังพิมพ์เจดีย์ เหตุที่แพงเพราะเป็นพระที่ติดรางวัลที่ 1 ในงานประกวดงานใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นงานที่ยังกล่าวขวัญกันอยู่จนถึงปัจจุบัน เซียนท่านนั้นได้เสนอให้ผู้เขียนยืมมาใช้ ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่กล้าเพราะของแพง เดี๋ยวจะทำของเสียหายแต่ก็ห้ามใจไม่ได้ เพราะตั้งแต่ได้เห็นก็ชอบมากประกอบกับเป็นพระจังหวัดบ้านเกิดและมีประวัติที่น่าศรัทธา จึงรับมาแขวนอยู่หลายเดือน
หลังจากที่ได้รับพระมาแขวน ผู้เขียนพยายามสืบค้นหาประวัติของพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคลจากแหล่งต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น ปรากฏว่ามีข้อมูลหนึ่งที่เซียนยุคเก่าหลายท่านต่างบอกว่าในกรุวัดใหญ่ชัยมงคลนั้นมีพระขุนแผนที่ไม่เคลือบด้วย ตามข้อมูลที่นักเล่นยุคเก่าซึ่งอยู่ทันในยุคของการเปิดกรุ ได้เผยแพร่กันต่อ ๆมาทั้งการบอกกล่าวและการเขียนบทความว่า ในการเปิดกรุนั้นได้พบพระขุนแผนเคลือบประมาณ 200 องค์ และมีที่สมบูรณ์ประมาณ 50 องค์ เป็นพระที่เคลือบทั้งหมด แต่พระในกรุนี้ได้มีการลักลอบนำออกมาก่อนแล้วหลายครั้งและในภายหลังก็ยังมีการเข้าไปพบและนำออกมาอีก จำนวนจึงต้องมีมากกว่านั้น ด้วยเหตุที่เป็นเจดีย์ใหญ่มีจุดที่เก็บได้มากโดยเฉพาะบริเวณคอระฆังจะวางกระจายไปรอบ ๆ จึงพบหลายครั้ง และหลายครั้งมีการพบพระขุนแผนที่ไม่เคลือบปะปนออกมาด้วย
ต่อมาเมื่อพบพระขุนแผนกรุโรงเหล้า ซึ่งเป็นพระที่ไม่เคลือบและมีลักษณะคล้ายกันมาก พระขุนแผนที่ไม่เคลือบกรุวัดใหญ่และกรุอื่น ๆ ได้ถูกตีเป็นพระขุนแผนกรุโรงเหล้าไปหมด
ในช่วงเวลาที่แขวนพระขุนแผนเคลือบอยู่นั้น ผู้เขียนจะส่องพระองค์นั้นอยู่ทุกวันจนจำได้ขึ้นใจ ด้วยความมีเสน่ห์ขององค์พระและพุทธคุณที่สัมผัสได้จากประสบการณ์ทำให้พระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นพระในความใฝ่ฝันที่อยากได้มาบูชา แต่ราคาของท่านเกินกำลังที่จะหามาได้ ยิ่งเวลาผ่านไป ราคายิ่งทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ จึงเป็นเพียงพระในฝัน จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นักเล่นพระอาวุโสท่านหนึ่ง คือ พี่ทวีสุข ปัญญาอรรถ ซึ่งรู้จักกันมาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ว่างเว้นไม่ได้ติดต่อกันมา 10 กว่าปี พี่เขาติดต่อมายังผู้เขียน เราจึงได้นัดพบปะพูดคุยและมีการแลกเปลี่ยนพระกันเป็นประจำ หนึ่งในพระที่พี่เขานำมาคือ พระขุนแผนพิมพ์เดียวกับวัดใหญ่แต่ไม่เคลือบ พี่เขาบอกว่า ผมบูชามาเกือบ 30 ปีแล้ว จากเซียนใหญ่ท่านหนึ่ง บูชามาในเงื่อนไขที่รู้กันว่านี่คือพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลแบบไม่เคลือบ ทั้งพี่ทวีสุข และเซียนใหญ่ท่านนี้เป็นผู้มีประสบการณ์และมีความชำนาญเกี่ยวกับพระเครื่องมาอย่างโชกโชน เมื่อผู้เขียนได้เห็นพระขุนแผนองค์ดังกล่าวและพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ก็บอกกับตัวเองด้วยความมั่นใจว่า นี่คือพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลแบบไม่เคลือบ โดยผู้เขียนขอสรุปด้วยเหตุผลดังนี้
1. เป็นพระที่มีรายละเอียดทุกประการเหมือนกับพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ ยกเว้นเพียงแต่ไม่เคลือบ จะมีส่วนที่เหมือนกับกรุโรงเหล้าคือ ดินที่นำมาทำนั้นเป็นดินขาว ส่วนเรื่องขนาดและความหนา เป็นลักษณะของกรุวัดใหญ่ โดยเฉพาะกรุนี้เป็นพระค่อนข้างบาง มีลายนิ้วมือด้านหลัง องค์ในภาพมีความบางแบบเดียวกับองค์ที่ผู้เขียนศึกษามาเป็นองค์แรก ซี่งแตกต่างจากของกรุโรงเหล้า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นพระที่อยู่ตามคอระฆัง คราบผิวจึงไม่เหมือนกับกรุโรงเหล้าที่จมอยู่ในดิน
2. มีข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีเหตุผลที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ คือ การพบพระขุนแผนกรุวัดบ้านกลิ้ง เมื่อปี 2550 พระที่พบมีทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ โดยส่วนตัวผู้เขียนยังไม่เคยเห็นแต่ข้อมูลที่บอกกล่าวกันมาและได้รับการยืนยันจากเซียนใหญ่หลายท่านต่างบอกว่า มีความเหมือนกับพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลทุกมิติ ถ้าพบเจอต้องพิจารณาให้ดี เพราะว่ามีพระยัดกรุมากมายหลายฝีมือ พระที่พบมีไม่มาก จำนวนแน่นอนไม่สามารถสรุปได้เพราะมีหลายข้อมูล แต่ไม่เกิน 30 กว่าองค์ ส่วนไม่เคลือบมีจำนวนแน่นอน คือพบเพียง 2 องค์ และแบบไม่เคลือบผู้คนก็ต่างพากันสรุปว่าเป็นกรุโรงเหล้า
เรื่องนี้ต้องพิจารณาถึงที่มาของพระกรุนี้ เพราะจะเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบกับพระขุนแผนที่พบและโยงไปถึงพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล นอกจากพระขุนแผนแล้วยังมีพระที่พบในกรุนี้อีกหลายแบบ หลายสมัย มีทั้งพระขุนไกร พระโคนสมอ และพระบูชา ซึ่งพบที่ใต้ฐานชุกชี พระบูชาองค์เล็กและองค์ใหญ่ สำหรับพระองค์ใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อขาว ที่ใต้ฐานมีการระบุปีที่สร้างคือ พ.ศ.2143 จึงมีการสันนิษฐานถึงการบรรจุของพระกรุนี้ออกเป็น 2 ความเห็น
1. มีการบรรจุกรุมาตั้งแต่การสร้างหลวงพ่อขาว คือ พ.ศ.2143 ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และใกล้เคียงกันกับเวลาของการสร้างเจดีย์ที่วัดใหญ่ชัยมงคล และตามประวัติวัดบ้านกลิ้งก็มีความเกี่ยวข้องกับเจ้านายระดับสูงของราชวงศ์
2. ชาวบ้านรอบ ๆ วัดเล่ากันว่า ที่หมู่บ้านของพวกตนเป็นหมู่บ้านของช่างฝีมือในคราวที่มีการบูรณะเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคล ชาวบ้านได้เดินทางไปช่วยและได้นำพระขุนแผนกลับมาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2502 พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิจ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้และมีการนำพระที่วัดเก็บรักษาไว้รวมทั้งพระของชาวบ้านประกอบไปด้วยพระบูชาสมัยอยุธยาจำนวนมาก พระโคนสมอ พระขุนไกร พระแผงใบขนุนและพระขุนแผนแบบเคลือบและไม่เคลือบ บรรจุลงที่ใต้ฐานชุกชีของพระหลวงพ่อขาวและพระองค์อื่น ๆ ที่อยู่รายรอบ
เมื่อพิจารณาจากประเภทพระที่บรรจุแล้ว ก็สรุปได้ไม่ยากว่า เป็นการบรรจุในช่วงบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.2502 อย่างแน่นอน เพราะประกอบไปด้วยพระหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะพระโคนสมอเป็นพระอยุธยายุคปลายจนถึงต้นยุครัตนโกสินทร์
ผู้เขียนขอกลับมาเข้าประเด็นของพระขุนแผนเคลือบและไม่เคลือบที่บรรจุลงในกรุ ตามการบอกเล่าของชาวบ้านว่า นำมาจากการไปช่วยบูรณะเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จุดสำคัญคือ พระขุนแผนไม่เคลือบ 2 องค์ที่พบ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า คือพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลเช่นกัน เพราะการบูรณะพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2478 เป็นเวลาก่อนที่จะพบพระขุนแผนกรุโรงเหล้าซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2485 กรณีนี้จึงเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอสำหรับการสนับสนุนเรื่องพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลว่า มีแบบไม่เคลือบด้วย
มีข้อมูลที่ควรนำมาพิจารณาคือ ดินที่นำมาใช้ทำพระและการเคลือบ เพราะทั้ง 2 เรื่องมีความสำคัญที่จะใช้ประกอบความถูกต้องเกี่ยวกับพระกรุวัดใหญ่ชัยมงคลนี้ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องดินและการเคลือบ ผู้เขียนขอสรุปหลักการทำเครื่องปั้นดินเผาตามที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าจากตำรับตำราทั้งของไทย จีน ฝรั่ง จำนวนมาก เนื่องจากผู้เขียนสนใจเก็บสะสมโบราณวัตถุโดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาและกระเบื้องเคลือบ สำหรับเครื่องปั้นดินเผาทุกชนิดรวมเรียกว่า เซรามิค ซึ่งแบ่งออกตามระดับความร้อนที่ใช้เผาดังนี้
- ต่ำกว่า 850 องศา เรียกว่า Terra cotta
- 850 – 1150 องศา เรียกว่า Earthen ware
- 1150 – 1350 องศา เรียกว่า Stone ware
- สูงกว่า 1350 องศา เรียกว่า Porcelain
ที่ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงคือ ประเภทที่ 4 เพราะใช้ดินไม่เหมือนกับแบบอื่น ๆ คือใช้ดินขาว ซึ่งเป็นดินประเภทเดียวกับดินที่นำมาสร้างพระขุนแผนของกรุวัดใหญ่ชัยมงคล ดินขาวนี้ค้นพบครั้งแรกและนำมาทำกระเบื้องโดยชาวจีน เรียกกันว่า ดินเกาลิน หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า kaolin ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอ่านออกเสียงเป็น คา โอ ลิน แต่จริง ๆ แล้วคำนี้เป็นการเขียนทับศัพท์ในภาษาจีน ให้อ่านเป็น เกาลิน เหมือนกัน คำว่า เกาลิน นี้ ทั้งในภาษาจีนและในภาษาอังกฤษเป็นคำเรียกแทนเท่านั้น เพราะเกาลิน ในภาษาจีนแปลว่า ภูเขาสูง ซึ่งเป็นที่ที่เจอดินขาว ส่วนภาษาอังกฤษ ถึงแม้ว่าจะเป็นการเขียนคำอ่านทับศัพท์ภาษาจีนก็ตาม ในพจนานุกรมก็จะแปลว่า ดินขาว แต่จริง ๆ แล้ว ดินขาวนั้นภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า white clay
ดินขาวที่ค้นพบโดยทั่วไปนั้น มี 2 ประเภท คือ ดินขาวที่มีส่วนประกอบของสารอะลูมิเนียมซิลิเกต จะเป็นดินที่สามารถนำมาเผาเป็นกระเบื้องได้ ดินอีกประเภทหนึ่งไม่สามารถนำมาเผาเป็นกระเบื้องได้ ส่วนดินที่สามารถนำมาทำกระเบื้องได้นั้นก็ยังเป็นดินที่มีหลายระดับ คือ เผาแล้วได้กระเบื้องที่เป็นสีขาวขุ่น ส่วนที่มีคุณภาพสูงสุดเมื่อเผาแล้วจะได้กระเบื้องที่โปร่งใส แสงผ่านได้
สำหรับดินขาวที่นำมาทำพระขุนแผนในยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรนั้น ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าพระชุดนี้ทำที่ประเทศไทย หรือส่งไปให้ประเทศจีนทำ เพราะในยุคนั้น ในประเทศไทยยังไม่ได้ผลิตกระเบื้องสีขาว แต่ในสมัยสุโขทัยโดยเฉพาะที่เตาสุโขทัยจะมีการใช้ดินขาวมาทาเครื่องปั้นดินเผา ( Stone ware ) ก่อนการเขียนลายและเคลือบ ซึ่งอาจเป็นข้อสงสัยว่า ดินขาวที่นำมาใช้นั้นสั่งมาจากจีนหรือใช้ดินขาวในประเทศไทย เพราะการใช้นั้นก็ใช้แค่การนำมาทา ถ้าค้นพบในประเทศไทย ทำไมไม่ทำกระเบื้องเคลือบแบบ Porcelain เรื่องนี้ผู้เขียนคิดว่าคงเป็นการใช้ดินในประเทศไทยนั้นแหละ แต่เทคโนโลยีของเรายังไม่ถึงในการทำ Porcelain เพราะที่สุโขทัยนั้นก็ไม่ได้ห่างจากแหล่งดินขาวที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางมากนัก และที่ใกล้อีกแห่งหนึ่งก็คือดินขาวในจังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้กว่าจังหวัดลำปาง แต่คุณภาพยังไม่ถึงที่จะนำมาทำกระเบื้อง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัด
ตามที่กล่าวกันว่า พระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคลทำจากดินเกาลิน หรือดินขาวนั้น ถ้าเราพิจารณาจากเนื้อหาที่ปรากฏจะพบว่า ไม่ใช่จะทำจากดินขาวล้วน ๆ แต่มีดินอื่นผสมอยู่ด้วย และการเผาก็ไม่ได้ใช้อุณหภูมิสูงถึงขั้น Porcelain เนื้อพระที่ออกมาจะเห็นผิวภายนอกไม่ขาวจั๊วะ จะมีลักษณะผสมสีอิฐอยู่ด้วยจึงทำให้เป็นสีอมชมพู แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นดินขาวชนิดที่ต้องมีดินอื่นเช่นดินดำ ผสมด้วยจึงจะทำให้คงรูปและแข็งเป็นกระเบื้องได้ เนื้อพระนี้จึงเป็นเอกลักษณ์ ถ้าดูโดยละเอียดตรงจุดที่พระกะเทาะ จะเห็นว่าผิวชั้นนอกเป็นสีขาวอมชมพู ถัดไปเป็นชั้นบาง ๆ สีอิฐและเนื้อในจะเป็นสีขาวหรือขาวอมเทา การปลอมจึงทำได้ยากมาก พวกที่ทำปลอมมักจะใช้ดินขาวอย่างเดียว
ส่วนเรื่องการเคลือบของพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ เป็นการเคลือบแบบสีน้ำตาลอมดำ และบางจุดโดยเฉพาะตามซอกจะเป็นสีดำ การเคลือบแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคแรก ๆ ก่อนที่จะมีการเคลือบใสและเคลือบเซลาดอน ซึ่งการเคลือบแบบนี้ได้หลักการทำมาจากขอม โดยเตาที่เคลือบแบบขอมที่ส่งอิทธิพลมายังสุโขทัยที่ใกล้เคียงที่สุดคือเตาโคกกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และสีพระของกรุนี้จะเป็นสีแบบนี้เท่านั้น ไม่มีสีเขียว ส่วนที่เห็นเป็นสีเหลือง ผู้เขียนคิดว่าไม่ถึงกับเหลือง แต่เป็นน้ำตาลอ่อนใส จึงมองคล้ายเป็นสีเหลือง สำหรับสีเหลืองชัด ๆ และมีส่วนประกอบของสีเขียวด้วย เป็นพระของกรุวัดเชิงท่า และมีจำนวนไม่น้อยถูกนำไปรวมเป็นพระกรุวัดใหญ่ชัยมงคล
เรื่องพระขุนแผนเคลือบกรุวัดเชิงท่า ก็เป็นอีกกรุหนึ่งที่มีหลากหลายความเห็น ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าเป็นพระคนละยุคคนละสมัยกับพระกรุวัดใหญ่ชัยมงคล ทั้งพิมพ์ที่ไม่เหมือนชนิดเป็นพิมพ์เดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีรายละเอียดเหมือนกันทุกอย่าง แต่ขนาดความลึก ความคมชัดมีความแตกต่าง และเทคนิครวมทั้งวัสดุที่นำมาเคลือบก็แตกต่างกัน นอกจากนี้ เนื้อขององค์พระก็ยังมีความแตกต่าง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือข้อมูลของการสร้างวัดเชิงท่าที่ระบุว่าสร้างขึ้นช่วงปี พ.ศ.2318 ซึ่งเป็นยุคสมัยของกรุงธนบุรีหรือสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ห่างจากยุคสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะสงครามยุทธหัตถีในปี พ.ศ.2135 และเริ่มสร้างเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลเกือบ 200 ปี ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเป็นพระยุคเดียวกัน
จากข้อมูลดังกล่าว การพิจารณาพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล สามารถดูได้จากองค์ประกอบ 3 อย่างคือ
1. เนื้อพระ ไม่ใช่เป็นดินขาวหรือดินเกาลินล้วน ๆ แต่จะมีดินอื่นผสมด้วย เนื้อองค์พระจึงมีลักษณะดังที่ผู้เขียนได้อธิบายมาข้างต้น ส่วนพระปลอมและกรุอื่น ๆ จะใช้ดินขาวล้วน ยกเว้นพระขุนแผนกรุโรงเหล้า
2. สีที่เคลือบเป็นสีน้ำตาล น้ำตาลอมดำ และสีดำ
3. พิมพ์ เรื่องนี้ต้องศึกษา จดจำ พิมพ์จากของแท้
พระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นพระที่มีความคลาสสิคและเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันพบเห็นได้ยากมาก ผู้ใดมีไว้จึงนับว่าเป็นคนที่โชคดีมาก
ภาพที่นำมาแสดงดังต่อไปนี้ เป็นภาพที่นำมาจากหนังสือ PRESTIGE ของคุณอุ๊ กรุงสยาม ฉบับที่ 2 ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 – 20 มกราคม 2544 ผู้เขียนพิจารณาแล้วเห็นว่าภาพทั้งหมดเป็นพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคลของแท้ ถ้าท่านผู้อ่านพิจารณาดูจะเห็นว่าทั้งเนื้อและสีเคลือบเป็นดังที่ผู้เขียนได้อธิบายมา







