บทความที่ลงในนิตยสารพระเครื่องกรุงสยามฉบับที่ 22 (ตอนที่ 3 )
วัตถุมงคลของพ่อหลวง
พูดถึงวัตถุมงคลของพ่อหลวงที่ท่านทำเองในรูปของเครื่องรางของขลัง และในรูปของท่าน ตามที่ผู้เขียนได้รวบรวมดู นับว่ามีจำนวนไม่มากนัก ถ้าจะนับกันแล้วถือว่าค่อนข้างน้อยไปด้วยซ้ำ สำหรับพระสุปฎิปันโนที่มีความเชี่ยวชาญและเข้มขลังเช่นท่าน ทั้ง ๆ ที่ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่เป็นเพราะท่านไม่ค่อยอนุญาตให้ใครสร้างวัตถุมงคลของท่าน จึงมีน้อยดังกล่าว
ส่วนตัวของท่านเอง เมื่อสร้างแต่ละครั้ง ก็จะแจกไปได้นาน แม้แต่เหรียญรุ่นแรกของท่าน ปัจจุบันนี้ยังแจกไม่หมดเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านไม่ค่อยจะให้ใครง่าย ๆ ท่านจะพิจารณาให้เฉพาะคนที่มีความเชื่อถือศรัทธาต่อท่าน คนทั่ว ๆ ไป ถ้าขอวัตถุมงคล ท่านก็จะให้แต่ไหมสีต่าง ๆ ที่ถักขึ้นคล้าย ๆ เปียสำหรับผูกข้อมือ โดยจะผูกให้ด้วยตัวท่านเอง ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับการผูกจากท่าน พอเก่าหรือหลุดท่านก็จะผูกให้ใหม่ ท่านเคยบอกกับผู้เขียนว่า ถ้าลูกเชื่อพ่อหลวง เพียงแค่ไหมที่ผูกข้อมือนี่ รับรอบว่าลูกจะไม่ตายโหง ความจริงผู้เขียนไม่อยากนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง เกรงว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจผิดคิดว่าท่านอวดอ้างวัตถุมงคลของท่าน แต่จริง ๆ แล้วท่านไม่เคยพูดเรื่องนี้กับใครอย่างที่ท่านพูดกับผู้เขียน แม้แต่ลูกศิษย์ใกล้ชิด ยังแปลกใจว่า ทำไมท่านพูดเรื่องนี้กับผู้เขียน พวกเขาเองพ่อหลวงยังไม่เคยพูดแบบนี้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนทราบดีว่า ผู้เขียนมีความศรัทธาเชื่อถือท่านจนหมดจิตหมดใจ ท่านจึงพูดให้ฟัง
วัตถุมงคลที่ผู้เขียนรวบรวมได้มีดังต่อไปนี้คือ
1. ไหมถักผูกข้อมือ*****
เป็นวัตถุมงคลที่ท่านทำเพื่อผูกข้อมือให้ผู้ไปขอเครื่องรางของขลังจากท่าน หรือผู้ที่ไปทำบุญแล้วท่านไม่มีอะไรจะให้ ท่านก็จะผูกข้อมือให้ด้วยไหมถัก ซึ่งมีลักษณะเหมือนเปีย คือนำเอาด้ายสีต่าง ๆ บางคราวก็สีเดียวกัน มารวมกันแล้วถักตรงกลางยาวประมาณ 2 นิ้ว โดยปล่อยหัวท้ายเป็นเส้นยาวออกมาข้างละประมาณ 6 – 7 นิ้ว
ถึงแม้ว่าจะเป็นวัตถุมงคลที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ แต่ว่าขลังนัก เพราะทำและปลุกเสกโดยพระผู้ทรงอภิญญา และเป็นเรื่องแปลกมากที่ใครเห็นผู้เขียนผูกข้อมืออยู่ ก็มักจะขอบ้าง
2. ตะกรุด*****
ถือเป็นวัตถุมงคลหลักของท่านที่ทำแจกให้ลูกศิษย์และผู้เคารพศรัทธาท่านจริง ๆ และการจะมอบให้ใครก็ยากจริง ๆ ด้วย เพราะท่านจะพิจารณาถึงความเชื่อมั่นศรัทธา คน ๆ นั้น การพิสูจน์ก็ไม่ยาก เนื่องจากท่านรู้จิตใจคนที่ไปหาท่านตั้งแต่เดินเข้าวัด ใคราที่ไม่ศรัทธาท่านก็ไม่อยากให้ เพราะท่านถือว่าของ ๆ ท่านมีค่า ทำด้วยความยากลำบาก คนรับไปแล้วเอาไปทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ก็ไม่มีประโยชน์
ตะกรุดของพ่อหลวงจะทำหลายแบบ นั่นคือ ตะกรุดโทน ตะกรุดชุด 3 ดอก 5 ดอก 7 ดอก และ 9 ดอก
ตะกรุดในยุคแรก ๆ ท่านจะทำโดยลงยันต์บนแผ่นทองแดง ยาวประมาณ 4 นิ้ว และลงผ้ายันต์อีก 2 ผืน ม้วนแยกกันทั้ง 3 ชิ้น จากนั้น นำมาเรียงกันให้ตะกรุดอยู่ตรงกลาง แผ่นผ้ายันต์อยู่ด้านข้าง ถักด้วยด้านในล่อน โดยมีเชือกร่มเป็นแกนกลาง ทำให้ช่วงที่ถักด้วยด้านในล่อนยาวประมาณ 1 ฟุตกว่าๆ มีลักษณะสวยงามมาก ท่านบอกว่าใช้เวลาทำนานประมาณ 10 วันต่อ 1 เส้น ในระยะหลัง ๆ ถ้าเป็นตะกรุดโทน ท่านจะใช้ผ้ายันต์หุ้มตะกรุดแล้วถัก ถ้าเป็นตระกรุดชุดจะไม่มีผ้ายันต์ แต่จะร้อยด้วยเชือกไนล่อน แล้วถักด้วยด้านไนล่อนเส้นโตๆ สีต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นชุดเดียวกันจะใช้สีเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างเท่า ๆ กัน ดอกหนึ่งยาวประมาณ 2 นิ้วครึ่ง
ตะกรุดทั้งหมด พ่อหลวงจะลงมือทำด้วยตัวท่านเอง ตั้งแต่ลงยันต์และการถักด้ายหุ้ม ตามหลักการของท่าน จะต้องถักหุ้มทุกดอกพร้อมมีสายคาด แม่แต่ตะกรุดที่ทำด้วยแผ่นทองก็ไม่มีข้อยกเว้น ท่านบอกว่าเวลาถัก ต้องบริกรรมคาถากำกับด้วย วัตถุมงคลอย่างนี้หละครับที่ผู้เขียนถือว่าทรงคุณค่ามากที่สุด เพราะเป็นการทำด้วยมือของท่านเองทุกขั้นตอน ท่านเคยพูดกับผู้เขียนว่า จะเอาสวยไม่ได้หรอก เพราะทำแบบโบราณ แต่ผู้เขียนกลับมองว่าสวยและน่าศรัทธามาก
ผู้เขียนเองเชื่อมั่นในตะกรุดของท่านเป็นอย่างสูง ที่ผ่านมาผู้เขียนแทบจะไม่ได้คาดตะกรุดเลย แต่หลังจากผู้เขียนได้รับมอบตะกรุดที่พ่อหลวงทำให้ ผู้เขียนจะคาดชุดหนึ่งที่เอว และอีกชุดหนึ่งพกใส่กระเป๋าเสื้อ ตามที่ท่านบอกไว้ทุกวัน ท่านยังบอกกับผู้เขียนในขณะที่ไม่มีคนอื่นอยู่ว่า ” พ่อหลวงไม่ให้เสียชื่อลูกศิษย์วัดโคกสูงหรอก “
ลูกศิษย์ของพ่อหลวง รวมทั้งนักพระเครื่องหลายท่าน เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า สมัยก่อนมีคนไปขอลองความเข้มขลังของท่านมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่ใช่ชาวพุทธ พ่อหลวงจะลงยันต์บนแผ่นทองแดงบ้าง แผ่นผ้าบ้าง พวกนั้นจะนำไปวางบนตอไม้ แล้วจ่อยิง ปรากฏว่ายิงไม่ออกสักครั้งเดียว จนเขาเหล่านั้นยอมรับและไหว้ด้วยความเกรงใจท่านมาก เมื่อท่านสร้างวัดใหม่ ๆ ศาลาซึ่งเป็นกุฎิที่ท่านอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาก็ขนไม้ ขนเสา มาให้ท่านสร้าง นับว่าท่านเหล่านั้นมีใจเป็นกุศลมากกว่าชาวพุทธบางคนเสียอีก
ในความเข้มขลังของท่าน ทำให้ทหารในยุคนั้น ทหารที่จะไปรบในเวียดนามพากันมาขอวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังเพื่อติดตัวออกสนามรบเป็นจำนวนมาก
3. พระสมเด็จ*****
ได้มีพิธีพุทธาภิเษกพระสมเด็จ ที่วัดระฆัง ในช่วงปี 2515 – 2520 ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นการพุทธาภิเษกพระรุ่นไหน เพียงแต่พ่อหลวงท่านบอกว่า ท่านได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีด้วย ท่านบอกกับผู้เขียนว่า จำ พ.ศ.ไม่ได้ แต่เป็นช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากเข้าร่วมพิธีแล้ว พ่อหลวงจึงมีความคิดที่จะสร้างพระสมเด็จบ้าง จึงติดต่อกับโรงงานทำพระและได้สร้างพระสมเด็จขึ้น โดยตั้งชื่อว่า สมเด็จภัทฺทิยมหาราช มีขนาดค่อข้างเขื่อง
4. เหรียญรุ่นแรก *****
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2518 โดยลูกศิษย์ที่อยู่ในจังหวัดยะลา เป็นเหรียญรูปไข่เห็นเฉพาะใบหน้า มีความงามของฝีมือช่างที่แกะแบบพิมพ์ได้เหมือนและสวยมาก เป็นเหรียญที่ดังเงียบ ๆ อยู่ในหมู่ลูกศิษย์ท้องถิ่น มีประสบการณ์มากมาย แต่คนมองข้ามไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะพ่อหลวงไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนหลวงพ่อองค์อื่นๆ แต่ถ้าพูดถึงความเข้มขลังแล้วไม่แพ้ใคร ผู้เขียนเชื่อว่ายังเก่งกว่าอีกหลายองค์ด้วยซ้ำ เรื่องนี้ศิษย์ใกล้ชิดในท้องถิ่น และที่อยู่กรุงเทพอีกหลายคนรู้ดี
ก่อนที่ผู้เขียนจะนำเรื่องราวของพ่อหลวง มาเสนอต่อท่านผุ้อ่านนั้น เหรียญรุ่นแรกเนื้อทองแดงราคาอยู่ที่ 200 -300 บาทเท่านั้น แต่หลังจากที่เรื่องของท่านผ่านสายตาพี่น้องชาวใต้ไปแล้ว ราคาก็ขยับไปถึง 1,000-1,500 บาท เพราะมีคนต้องการเพิ่มขึ้น ถึงกระนั้นก็ยังถือว่าราคาย่อมเยาอยู่มากสำหรับเหรียญรุ่นแรกของพระสุปฎิปันโนอาคมขลังอย่างพ่อหลวง ดังนั้นผู้คนจึงพากันแสวงหามากขึ้น แต่เนื่องจากจำนวนสร้างน้อย จึงค่อนข้างหายากในปัจจุบัน
เหรียญเงินลงยา
เหรียญนวโลหะ
เหรียญทองแดง
ลักษณะเหรียญ
ด้านหน้า = เป็นรูปพ่อหลวงเฉพาะใบหน้า ด้านล่างเขียนฉายาของท่านอย่างเดียว ว่า ” ภัทริโย “
ด้านหลัง = โดยรอบขอบเหรียญ มีหนังสือไทยว่า หลวงพ่อภัทร ภัทริโย วัดโคกสูง ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ตรงกลางเหรียญ เป็นยันต์พุทธ ปิดล้อม ล้อมรอบยันต์มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ อะ
จำนวนการสร้าง : เนื้อทองคำ 5 เหรียญ
เนื้อเงิน 67 เหรียญ
เนื้อนวะ 12 เหรียญ
เนื้อทองแดง 5,000 เหรียญ
สำหรับเหรียญเงิน ได้มีการนำไปลงยาจำนวนหนึ่ง ไม่ทราบแน่ว่ากี่เหรียญ โดยลงยาส่วนของจีวรเป็นสีเหลือง พื้นด้านหลังเป็นสีแดง