บทความที่ลงในนิตยสารพระเครื่องกรุงสยามฉบับที่ 20 (ตอนที่ 2)
จากการเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ พ่อหลวงแห่งวัดโคกสูง หรือหลวงพ่อภัทร ในฉบับที่แล้ว ได้มีหลายท่านต่อว่าผุ้เขียน ว่าทำไมเขียนสั้นบ้าง ทำไมไม่ค่อยมีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวหลวงพ่อบ้าง บางท่านบอกว่า อยากรู้เรื่องราวของท่านมากกว่านี้ เขียนมาก ๆ หน่อยได้ไหม
ก็คงต้องขอเรียนต่อท่านผู้อ่านอย่างที่ได้เขียนไว้ในตอนแรกนั่นแหละว่า ผู้เขียนทราบเรื่องส่วนตัวของท่านน้อยมาก และจากการเขียนที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการสอบถามหรือสัมภาษณ์ท่านแต่อย่างใด การไปกราบท่านแต่ละครั้งได้คุยไม่มากนัก ท่านจะไม่ค่อยให้ใครอยู่นาน ๆ พอไปพบท่านจะถามว่ามีธุระอะไร เมื่อเสร็จธุระแล้วก็ให้กลับ ยกเว้นแต่ว่าธุระนั้นต้องใช้เวลานานถึงจะอยู่ได้นานหน่อย อีกกรณีหนึ่งก็คือมีธุระค้างอยู่แต่ไม่กล้าบอกท่าน ๆ จะถามจนต้องบอกออกมา เนื่องจากท่านสามารถหยั่งรู้จิตใจของผู้ที่ไปหาท่าน เพียงแต่ท่านอาจจะเลือกเป็นบางคนเท่านั้น
อย่างกรณีที่ผู้เขียนประสบมาด้วยตัวเอง ตอนที่ผู้เขียนไปหาท่านเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2539 ผู้เขียนได้นำแผ่นทองคำไปด้วยจำนวน 4 แผ่น ตั้งใจว่าจะขอให้ท่านทำตะกรุด เป็นตะกรุดโทน 1 ดอก และตะกรุดชุด 3 ดอก พอไปถึงท่านถามผู้เขียนว่ามีธุระอะไร เป็นคำถามทีท่านไม่เคยถามมาก่อน ผู้เขียนจึงกราบเรียนว่า คิดถึงพ่อหลวง และรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เลยมากราบพ่อหลวง ท่านก็ไม่ว่าอะไร คุยไประยะหนึ่ง ท่านก็ถามว่ามีธุระอะไรอีก ผู้เขียนก็หยิบแผ่นทองแดง ซึ่งนำติดไปด้วย ขอให้ท่านลงไว้สำหรับเป็นชนวนเทรูปเหมือนนั่งเก้าอี้ของท่าน ท่านรับไว้แล้วพยักหน้า จากนั้นคุยกันต่อ ท่านก็ถามเป็นครั้งที่สามอีกว่า มีธุระอะไร ผู้เขียนจึงตอบว่าคิดถึงพ่อหลวง ก็เลยมากราบพ่อหลวงเฉย ๆ ท่านก็ถามอีกว่า แล้วมีธุระอะไรอีก ถึงตอนนี้ผู้เขียนคิดในใจว่าคงจะลังเลไม่กล้าบอกท่านต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ท่านคงทราบด้วยญาณของท่านอยู่แล้วว่า ธุระใหญ่ของผู้เขียนในการมาหาครั้งนี้ คือต้องการให้ท่านทำตะกรุด ผู้เขียนจึงหยิบแผ่นทองออกมาให้ท่าน แล้วบอกว่าอยากให้พ่อหลวงทำตะกรุดด้วยแผ่นทองคำให้ลูกด้วย ท่านให้ผู้เขียนดึงแผ่นทองออกมาจากซองพลาสติก รับไปพิจารณาดูแล้วสั่งให้ผู้เขียนเก็บ และบอกว่าให้มารับในวันที่ผู้เขียนมาร่วมงานทอดกฐิน จากนั้นก็บอกให้ผู้เขียนกลับไปหาข้าวทานและเข้าโรงแรมพักผ่อน โดยไม่ชวนคุยต่อ
ผู้เขียนนำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อจะเรียนต่อท่านผู้อ่านว่า พ่อหลวงท่านทราบความรู้สึกนึกคิด ความตั้งใจ และเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี และที่ผู้เขียนไม่หยิบแผ่นทองและขอให้ท่านทำตะกรุดตั้งแต่ครั้งแรก เพราะผู้เขียนลังเล ไม่กล้าขอท่าน เนื่องจากท่านเคยทำให้ผู้เขียนแล้ว แต่ผู้เขียนยังอยากได้แบบที่ทำด้วยทองคำ และเก็บไว้อีกชุดหนึ่ง เพราะผู้เขียนเชื่อว่า คงจะไม่มีโอกาสได้ตะกรุดที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์แบบนี้อีกแล้ว เมื่อมีโอกาสได้ใกล้ชิดท่านจึงอยากได้ไว้ แต่อย่างที่เรียนนั่นแหละ ผู้เขียนกลัวท่านว่า และเกรงใจท่าน แต่ท่านก็ยังรู้ถึงจุดมุ่งหมายของผู้เขียนจนได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยบอกท่านมาก่อน ดังนั้น จึงพยายามคาดคั้นเรื่องธุระหรือความตั้งใจของผู้เขียน จนต้องกล้าขอให้ท่านทำตะกรุดให้ ท่านจึงหยุดถาม


ตะกรุดทั้งสองแบบ พ่อหลวงท่านจะถักด้วยสีแดง ซึ่งเป็นสีพิเศษที่แตกต่างจากสีปกติที่ท่านใช้ถักกับตะกรุดที่เป็นเนื้อทองแดงทั่วไป ส่วนตะกรุดชุดแรกที่ท่านทำให้ผู้เขียนก็ถักสีที่ไม่เหมือนกับตะกรุดปกติที่ท่านทำเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่สีแดง เข้าใจว่าสีแดงท่านจะใช้กับตะกรุดทองคำเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่แสดงว่าท่านทราบถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น และเหตุการณ์ในปริมณฑลรวมถึงที่ไกล ๆ ถ้าท่านต้องการ อย่างเช่นในวันที่ผู้เขียนไปทอดกฐินก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนขับรถไปในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 ถึงวัดประมาณ 1 ทุ่ม เข้าไปกราบท่าน ท่านให้สวดมนต์ เสร็จแล้วผู้เขียนนำซองกฐินถวายท่าน คุยกับท่านได้ 2 – 3 คำ ท่านก็บอกกับผู้เขียนว่า รีบเข้าเมืองได้แล้ว พรรคพวกรอทานข้าวอยู่ ผู้เขียนถึงกับสะดุ้ง เพราะก่อนถึงวัดประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร ผู้เขียนโทร ฯ คุยกับคุณสุธรรม ว่องวีระ บอกให้เขาทานข้าวก่อน เพราะผู้เขียนมาถึงช้า ยิ่งถ้าผู้เขียนแวะที่วัดก่อนจะยิ่งทำให้เลยเวลาอาหารเย็นมากขึ้น แต่คุณสุธรรมไม่ยอม บอกว่าจะรอให้ผู้เขียนโทร ฯ หา เมื่อออกจากวัดแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านทราบอยู่ตลอด และท่านก็ทราบต่อไปอีกว่า นอกจากผู้เขียนมาทอดกฐินในครั้งนี้แล้ว ผู้เขียนยังมีความกังวลในใจเรื่องที่ผู้เขียนเรียนต่อท่านผู้อ่านมาตั้งแต่ต้นว่า ผู้เขียนไม่ทราบประวัติชีวิตความเป็นมาของท่านมากนัก จึงไม่ได้เขียน และตั้งใจว่าจะผ่านเลยไป เพราะผู้เขียนมุ่งมั่นที่จะเสนอต่อท่านผู้อ่านถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อหลวงเท่านั้น
แต่เมื่อมีผู้อ่านสอบถามมา ทำให้เรื่องนี้อยู่ในใจของผู้เขียนตลอดเวลา และด้วยความเมตตาของพ่อหลวง ที่ท่านได้ให้กับผู้เขียนทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนไม่ได้ถามท่าน แต่ท่านทราบด้วยญาณว่า ผู้เขียนคิดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอด ดังนั้น เมื่อผู้เขียนไปกราบท่านในวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2539 หลังจากทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงนั่งคุยอยู่กับผู้เขียนนานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และช่วงหนึ่ง ท่านได้เล่าถึงชีวิตก่อนบวชของท่านให้ฟังคร่าว ๆ ซึ่งผู้เขียนพอสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้
ท่านเกิดที่จังหวัดพัทลุง โยมบิดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก ๆ ต่อมาเมื่ออายุได้ 12 ปี โยมมารดาก็เสียชีวิตลงอีก ขณะนั้นจนมาก ไม่มีแม้แต่เงินจะทำศพ ต้องไปขอยืมเงินจากเจ้าของสวนยางผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง โดยเอาตัวเข้าไปแลกเป็นทาส ทำงานทุกอย่างเพื่อใช้หนี้ มีชีวิตที่ลำเค็ญ ต้องอด ๆ อยาก ๆ เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก เพราะท่านเป็นเพียงเด็กตัวเล็ก ๆ อยู่ในวัยที่ควรจะได้ร่ำเรียน ได้กินอยู่หลับนอน มีผู้ใหญ่คอยดูแล มีเพื่อนได้เล่นหัวเยี่ยงเด็กทั่ว ๆ ไป
แต่ชะตาชีวิตไม่ได้โหดร้ายต่อท่านมากนัก ก็มีผู้ใหญ่คนหนึ่ง เห็นท่านลำบากเช่นนั้น รู้สึกสงสาร จึงนำเงินไปไถ่ตัวท่านออกมา ในขณะที่ท่านไปใช้หนี้เขาได้ปีเศษ ๆ จากนั้นท่านก็ไปรับจ้างทำงานหาเลี้ยงตัวไปเรื่อยๆ จนอายุได้ประมาณ 16 – 17 ปี ก็เกิดเหตุร้ายแรงกับท่านอีกครั้งหนึ่ง คือถูกกล่าวหาว่า ขโมยทรัพย์สินของชาวบ้าน ทำให้ตำรวจตามจับ ต้องหนีหัวซุกหัวซุน และก็เช่นเดียวกับครั้งแรก คือมีคนออกมาช่วยปกป้องท่าน รับรองกับตำรวจว่า ท่านเป็นเด็กดี ไม่ได้ประพฤติอย่างที่ถูกกล่าวหา ท่านจึงผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้โดยไม่ต้องติดคุก
เมื่ออายุได้ 22 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในเกณฑ์บวชของชายไทยตามประเพณี ทำให้ท่านหันมาพิจารณาเห็นว่า ชีวิตของคนมีแต่ความทุกข์ โดยเฉพาะตัวท่าน ผ่านเหตุการณ์ร้าย และความยากลำบาก ต่าง ๆ มามากมายแล้ว จึงคิดที่จะหาความสงบ หาแสงสว่างทางธรรม เลยตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์
ซึ่งในวันที่ท่านบวชนั้น คงไม่มีใครคิดว่า จะเป็นวันแห่งการก่อกำเนิดพระอริยสงฆ์ ขึ้นมาเป็นที่พึ่งของชาวบ้านอีกองค์หนึ่ง เพียงแต่ในวันนั้น ทุกคนปิติยินดีที่ร่วมงานอุปสมบทพระภิกษุหนุ่มองค์หนึ่ง และยินดีศรัทธาที่ก่อนบวช ท่านได้กล่าววาจาต่อญาติโยมที่ไปร่วมอนุโมทนา และ เป็นเจ้าภาพให้กับท่านว่า ” ขอให้ทุกท่านตั้งใจให้ดีในการทำบุญกุศลกับข้าพเจ้าครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะบวชไม่สึกตลอดชีวิต “
เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก สำหรับคนเราจะตัดสินใจบวชไม่สึก และเป็นสิ่งที่น้อยคนจะพูดเช่นนั้น แต่พ่อหลวงเป็นผู้ที่มีความเด็ดเดี่ยว และมุ่งมั่นท่จะค้นหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ท่านจึงตัดสินใจโดยเด็ดขาดได้ และจวบจนถึงทุกวันนี้ ก็ได้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ท่านสามารถปฎิบัติภารกิจของสงฆ์ ดำเนินรอยตามพระพุทธองค์โดยไม่เบื่อหน่ายและย่อท้อ
ภายหลังจากที่ท่านบวชแล้ว ได้ออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา จากเหนือจรดใต้ เพื่อฝึกฝนการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นเวลานานถึง 15 ปี ทำให้ท่านมีสมาธิจิตเข้มแข็ง ประกอบกับผู้ที่จะเดินทางธุดงค์ในสมัยก่อน ต้องมีวิชาอาคม ถึงจะรอดชีวิตมาได้ ท่านจึงมีความเข้มขลังในด้านไสยเวทย์อย่างไม่เป็นสองรองใคร
สิ่งที่ผู้เขียนเรียนมาข้างต้น คือ เรื่องราวคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะตลอดเวลาที่ท่านเล่า ผู้เขียนฟังอย่างเดียว ไม่ได้ถามท่าน โดยคิดในใจว่า แล้วแต่ท่านจะเล่าให้ฟังมากแค่ไหน ผู้เขียนก็จะนำมาเสนอแค่นั้น ถือว่าท่านอนุญาตเท่าที่เล่าให้ฟัง และต่อไปนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง เรื่องของอภินิหารแห่งองค์พ่อหลวง ที่น่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งคือ
เรื่องของเสี่ยใหญ่ เจ้าของแพปลาและเรือประมง ฐานะดีคนหนึ่ง ( ขอสงวนนาม ) เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นอย่างนี้ครับ
อยู่ ๆ กิจการของเสี่ยคนนั้นก็ทรุดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้าจะพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว จะบอกว่าไม่ทราบสาเหตุก็ไม่ได้ เพราะสาเหตุที่มองเห็นได้ส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เขาขาดทุนคือ เรือหาปลาของเขาจับปลาไม่ได้เลย ออกทะเลกี่เที่ยว ๆ ก็ไม่ได้ปลา ทำให้ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย นับว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน เป็นไปได้อย่างไร ที่ออกทะเลตั้ง 3 – 4 เดือน ไม่ได้ปลาสักตัว เสี่ยเจ้าของเรือประมงคงคิดมาก และ กลุ้มใจตลอด ตัวเขาเองทราบดีว่า สาเหตุที่ทำให้ฐานะการเงินของเขาตกลง เพราะการจับปลาไม่ได้ แต่การจับปลาไม่ได้ ต้องเป็นผลมาจากสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ยังไม่อาจจะทราบได้ แต่เมื่อวิเคราะห์ดูตามรูปการณ์แล้ว ต้องไม่ใช่เรื่องปรกติ แต่จะต้องเป็นเรื่องของอะไรสักอย่างที่มองไม่เห็น จึงทำให้เขาคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เขาคงไปทำผิดต่ออะไรสักอย่างหนึ่ง และคงเป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์หรืออภินิหาร หรือไม่ก็เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เมื่อสรุปได้ดังนั้น เขาจึงเดินทางไปหาหมอดูบ้าง คนทรงบ้าง พระอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ บ้าง แต่ไม่ได้ผล เมื่อเวลาล่วงเลยไป สถานการณ์ของเขายิ่งย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาได้รับการแนะนำจากเพื่อนให้มาหา ” พ่อหลวง ” แห่งวัดโคกสูง
เมื่อพบพ่อหลวง เขาจึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง พ่อหลวงนั่งนิ่ง ๆ ไปชั่วครู่ จึงพูดลอย ๆ ขึ้นว่า เอาเขาขึ้นมาแล้วยังไปลบหลู่เขาอีก ดันเอาไปทำที่เขี่ยบุหรี่ จากนั้นท่านจึงหันมาพูดกับเสี่ยว่า ลูกน้องคุณไปลากอวนติดของขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แทนที่จะทิ้งกลับคืนทะเล แต่ดันเอาไปทำที่เขี่ยบุหรี่ โยมกลับไปเอาของนั้นมาให้อาตมาจะจัดการให้เขาจึงรีบกลับมาบ้าน ไปที่เรือถามลูกน้องว่า 3 – 4 เดือนที่ผ่านมานี้ มึงลากอวนได้อะไรมาบ้าง ฝ่ายลูกน้องก็ตอบโดยไม่ต้องคิด คือไม่ได้อะไรมาเลยเสี่ย ซึ่งก็จริงอย่างที่ลูกน้องว่า เพราะลูกน้องเข้าใจว่าถามถึงปลา เสี่ยจึงถามอีกว่า ที่พวกมึงเอามาทำที่เขี่ยบุหรี่น่ะ ข้างฝ่ายลูกน้องเมื่อได้ยินดังนั้นจึงนึกขึ้นได้ รีบบอกว่า อ๋อ!.. นึกออกแล้ว ผมได้หัวกะโหลกมาอันหนึ่ง ทำเป็นที่เขี่ยบุหรี่อยู่ เสี่ยจึงสวนกลับทันทีว่า มึงจะทำให้กูฉิบหายแล้ว ไปเอาหัวกะโหลกมาแล้วไปกับกู
จากนั้นเขาจึงพาลูกน้องพร้อมหัวกะโหลก ซึ่งใช้ทำที่เขี่ยบุหรี่จนเขรอะไปหมด ไปพบพ่อหลวง เมื่อได้หัวกะโหลกมาแล้ว พ่อหลวงก็นำไปล้างน้ำฟอกสบู่ ทำความสะอาดอย่างดี แล้วนำมาพรมด้วยน้ำอบไทย จากนั้นจึงนำมาถือไว้ในมือ เพ่งมองดูหัวกะโหลกนั้น และพูดขึ้นว่า คนที่เป็นเจ้าของหัวกะโหลกอันนี้ ถ้ายังอยู่ขอให้ออกมาคุยกันหน่อย เข้าไอ้ลูกบ่าวนี่ก็ได้ พ่อหลวงพูดพร้อมกับชี้มือไปที่ลูกน้องของเสี่ย ซึ่งเกิดอาการกระตุกขึ้นมาทันที และมีกริยาอาการเปลี่ยนไป พ่อหลวงจึงถามขึ้นว่า เราเป็นใคร ? ทำไมจึงต้องไปแกล้งให้เขาเกิดความหายนะ จวนจะเจ๊งอยู่แล้ว วิญญาณในร่างของลูกน้องเสี่ยจึงบอกว่า ตัวเองมีชื่อว่า หนูลาบ ตายมาหลายปีแล้ว เขานำมาโยนทิ้งน้ำ เมื่อถูกอวนลากติดขึ้นมา แล้วเอาไปทำที่เขี่ยบุหรี่ จึงโกรธ เลยแกล้งให้จับปลาไม่ได้ พ่อหลวงจึงบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันให้เสี่ยคุยกับหนูลาบ แล้วตกลงกันเอง ฝ่ายเสี่ย จึงขอให้หนูลาบ ช่วยให้การทำมาหากินดี จับปลาได้มาก จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ด้านหนูลาบ ได้ฟังดังนั้นดีใจมาก บอกว่าถ้าเสี่ยทำบุญให้จริง ๆ จะตกลงช่วย แต่มีข้อแม้ว่าจะช่วยแค่ 3 ปี
หลังจากนั้น 3 ปี เสี่ยคนนั้นก็มีฐานะกลับคืนดีกว่าเดิม เพราะเรือหาปลาออกทะเลกลับมา ได้ปลาเต็มลำทุกเที่ยว ปัจจุบันหัวกะโหลกของหนูลาบ ถูกบรรจุอยู่ในเจดีย์ขนาดเล็ก ที่วัดโคกสูง
เรื่องที่ผู้เขียนเล่ามานี้ แสดงให้เห็นถึง อำนาจแห่งพลังจิตและการหยั่งรู้เหตุการณ์ขององค์พ่อหลวง ตลอดจนความสามารถที่จะติดต่อสื่อสารได้กับวิญญาณที่ตายไปหลายปีและยังสถิตย์อยู่ในหัวกะโหลกของตัวเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในด้านวิชาการไสยเวทย์ ความเข้มขลังในอาคมแห่งองค์พ่อหลวง ที่หาได้ไม่ง่ายนักในยุคนี้ นี่คือของจริงครับท่านผู้อ่าน